สถานที่ชุมนุมของคนตระกูล " ยี่สาร" เชิญเข้ามาพูดคุย หรือฝากข่าวถึงกัน

เวบบอร์ดของคน ตระกูล " ยี่สาร"
ยินดีต้อนรับทุกท่าน

โปรดทราบกฏกติกาการใช้เวบบอร์ดนี้

1.เวบบอร์ดนี้ เป็นของครอบครัวยี่สาร ทุกท่านที่อยู่ในทุกจังหวัด และ ทุกประเทศทั่วโลก ได้ใช้เป็นช่องทาง
และพื้นที่ในการเข้ามาพูดคุย ส่งข่าวคราว ถึงกันอย่างเสรี

2.อนุญาติให้ใช้ภาษาถนัดของครอบครัวได้ แต่ห้ามให้คำหยาบคาย

3.สามารถโพสต์ได้ทั้งภาษาไทย อังกฤษ


4.การพูดคุยโปรดให้ความเคารพความคิดเห็นผู้ อื่นด้วย


5.หากต้องการ โพสต์ข้อความครั้งแรกต้อง
" ลงชื่อเข้าใช้"ก่อน ( อยู่ด้านขวามือ) ต่อไปก็เข้ามาด้วยชื่อนั้น
ไม่ต้องลงชื่อเข้าใช้ทุกครั้ง


6.เมื่อจะโพสต์ข้อความ ให้กดที่คำว่า
" ความคิดเห็น" ข้าง ล่างของแต่ละบทความ

7.ขณะนี้ได้เพิ่มเวบบอร์ดหน้า 2 แล้ว
หากจะกลับไปหน้า 1 ให้คลิ๊กที่ " บทความที่เก่ากว่า " เมื่อจะมาหน้า 2 ก็คลิ๊กทีี่่
" บทความที่ใหม่กว่า " อยู่ใต้กล่องที่พิมพ์ แสดงความคิดเห็น


ขอให้มีความสุขในการชมบล๊อกนี้ทุกท่าน



วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไม่ลืมท่ายาง

   วันนี้ขอนำภาพที่เทศบาลตำบลท่ายางได้จัดทำโครงการประกวดภาพถ่ายเล่าเรื่องเมืองท่ายาง  ประจำปี ๒๕๕๔  โดยเปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม-๑๑ เมษายน ๒๕๕๔  และมีประชาชนจัดส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวด ทั้งสิ้นจำนวน ๓๑ ภาพ
   

ทางเทศบาลได้นำภาพที่ชนะเลิศ มาติดแสดงที่งานเปิด " ท่าน้ำข้ามภพ" ( สงสัยจะเขียนชื่อผิด)  ปรากฏว่า ในภาพที่ชนะรางวัล มีญาติผู้ใหญ่ของเราเป็นคนถ่าย นั่นคือก๋งพิน ( นายพิน ยี่สาร)  ส่วนคนในรูป ก็เป็นย่าน้อย ( นส.พาณี ยี่สาร) 

เชิญชมรูปที่ชนะรางวัลได้ค่ะ



๑.รางวัลชนะเลิศ  ได้รับเกียรติบัตร  พร้อมเงินรางวัล ๕,๐๐๐  บาท  จำนวน ๑ รางวัล  ได้แก่
 
 
"ภาพประเพณีอุปสมบท"
เจ้าของภาพ : นายปราโมทย์  เสงี่ยมพันธ์ศิริ
คำบรรยายภาพ : สถาน ที่บริเวณซอยเทศบาลฯ ๑๐ (ซอย ๑ เดิม) ตั้งขบวนแห่เพื่อนำนาคไปอุปสมบท ณ วัดบรรพตาวาส(วัดเขากระจิว) จะเห็นบรรยากาศตลาดนัดยามเช้า  และหากมองไปยังด้านท้ายของภาพถ่ายยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า  ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ (ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารพาณิชย์ เช่น ร้านท่ายางเภสัช เป็นต้น) สภาพทางยังเป็นทางดิน

 
๒. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑ ได้รับเกียรติบัตร พร้อมเงินรางวล ๓,๐๐๐ บาท 
จำนวน ๑ รางวัล ได้แก่
"ภาพวันไหว้ครูโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์)
เจ้าของภาพ : นายพชร  เพิ่มพงษ์พิพัฒน์
คำบรรยายภาพ : วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นวันไหว้ครูของนักเรียนโรงเรียนบ้านท่ายาง (ประชาสรรค์) มี น.ส.พาณี  ยี่สาร  ครูใหญ่เป็นประธาน  (นายพิณ  ยี่สาร  ผู้ถ่ายภาพ)


 
๓. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๒ ได้รับเกียรติบัติ พร้อมเงินรางวัล ๒,๐๐๐ บาท  
จำนวน  ๑ รางวัล ได้แก่

"ภาพมาเล่นน้ำกันเถอะ(สะพานเก่าที่ข้ามคลองไปโรงพยาบาล)
เจ้าของภาพ : นายประกายพฤกษ์  พลอยพลาย
คำบรรยายภาพ : วิถีชีวิตที่ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชาวท่ายาง  คือการเล่นน้ำดับร้อน  คลายร้อน  ในวันที่อบอ้าว  ฝนตก หรือแม้จะหนาว ใครเป็นชาวท่ายางไม่ได้เล่นน้ำคลองหรือน้ำท่า..เชยน่าดู...


( ขอบรรยายเพิ่มเติม : สะพานที่เห็นเป็นสะพานข้ามคลองชลประทานสาย 3 ทางไปโรงพยาบาล  ไร่กล้วยที่เห็นด้านหลังคือ ไร่ของก๋งพล ( นายพล ยี่สาร)  ควันไฟที่เห็นเป็นควันที่เกิดจากการเผาขยะ ที่ทิ้งตรงนี้มานานแล้ว )


๔. รางวัลชมเชย ได้รับเกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัล ๑,๐๐๐ บาท  จำนน ๔ รางวัล

        ๑) "ภาพน้ำท่วมปี ๔๖"
          เจ้าของภาพ : นายมรกต  อินทุละหาน



 
คำบรรยายภาพ : เมื่อประมาณเกือบ ๑๐ ปีที่แล้ว ที่ท่ายางได้เกิดอุทกภัยขึ้นติดต่อกันทุกปี  หลังจากปี ๒๕๔๖ ก็ไม่เกิดอุทกภัยขึ้นอีก  เพราะได้มีการขุดคลองและสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขึ้นใหม่ที่ยางชุม

 ๒) "ภาพเซิ้งหน้ากลอง"
            เจ้าของภาพ : นางสาวเพทาย  ใกล้ประยูร

 
คำบรรยายภาพ : ในอดีตการแห่นาค จะมีการแต่งตัวด้วยชุดลิเก  แล้วรำที่หน้ากลองยาว  สร้างความสนุกสนานและสวยงามให้กับขบวนแห่นาค

 
๓)  "ภาพท่าน้ำท่ายาง  เมื่อวันวาน"
             เจ้าของภาพ : นางสาวสุธีพร  สุขขำ



 
คำบรรยายภาพ : ภาพนี้เป็นภาพถ่ายที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนในสมัยก่อน ซึ่งเบื้องหน้าอันแสนเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน  สู่เบื้องหลังแห่งการพักผ่อนหย่อนใจที่ท่าน้ำท่ายาง  ซึ่งสะพานนี้เป็นสะพานไม้ที่ผู้คนสมัยก่อนใช้เดินข้ามไปมาระหว่างตำบลท่ายาง กับตำบลยางหย่อง ซึ่งในปัจจุบันนี้กลายเป็นสะพานปูนซีเมนต์ ซึ่งเล่าเรื่องราวในอดีตตำบลท่ายางได้ดี

(ความคิดเห็นเพิ่มเติม : รูปนี้เป็นสถานที่เดียวกับรูปที่ได้รางวัลที่ 3 คิดว่าคนบรรยายน่าจะเข้าใจผิด สะพานนี้น่าจะเป็นสะพานข้ามคลองมากกว่าข้ามท่า  เพราะริมท่าน้ำจะมีต้นไม้สูงใหญ่มากกว่านี้  ในรูปเห็นหลังคาบ้านมุงจาก  เป็นบ้านพักคนที่ปลูกผักที่ไร่นี้   ) 

๔) "ภาพพนักงานดับเพลิง (สถานีดับเพลิงท่ายางเก่า)
            เจ้าของภาพ : เด็กชายเอกภมร  ทั่งทอง

 
รรยายภาพ : กลุ่มคนที่จะมาช่วยเราบรรเทาสาธารณภัยในยามเกิดเพลิงไหม้หรือ สถานการณ์สำคัญต่าง ๆ พนักงานแต่ละคนมีความขยันมุ่งมั่นมานานจนแม้ปัจจุบัน


ขอบคุณเวบไซต์ของเทศบาลตำบลท่ายาง 
 


ต่อไปเป็นรูปจา่ก Youtube เพลง " สาวท่ายาง"  ซึ่งเจ้าปลาย ไปเจอมา  ป้าการ จึงแกะรูปออกมาจากวีดีโอ  ที่จริงพยายามติดต่อเจ้าของวีดีโอ เพื่อขอรูปแต่ติดต่อไม่ได้  เลยขออนุญาต และขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

รูปนี้พยายามนึกอยู่นานมากว่าเป็นส่วนไหนของท่ายาง 
แต่พอรู้ก็ดีใจมาก

เป็นรูปจุดรวมศูนย์การค้าของท่ายางสมัยก่อน 
วันนี้น่าจะเป็นวันที่มีตลาดนัด
นี่คือถนนใหญ่ท่ายาง บริเวณเกาะกลางถนนที่เรียกว่า " ต้นโพธิ์" 
รูปนี้ถ่ายจากบริเวณปากซอย 1 ย้อนไปทางสามแยกท่ายาง 
ช่วงที่ถ่ายเป็นตอนน้ำไม่ท่วม เราจึงเห็นว่า 
ที่เกาะกลางนี้เป็นที่ตั้งของร้านค้า(เพิงหมาแหงน) ขายของสารพัด 
ในวันที่ไม่ใช่ตลาดนัดจะไม่มีคนมากขนาดนี้
ฝั่งตรงข้ามเป็นห้องแถว ร้านขายเสื้อผ้าเจ้กุ๋ย 
ร้านขายเสื้อผ้าสิทธิภัณฑ์ และสารพัดร้าน

ในรูปจะเห็นว่าส่วนที่เป็นเกาะกลางถนน เป็นพื้นที่ที่มีหญ้าขึ้น 
ส่วนถนนจะเป็นดิน ยังไม่ราดยาง  ตอนเป็นเด็กจำได้ว่า 
เกาะกลางถนนนี้ กว้างใหญ่มาก ขนาดวิ่งเล่นกันได้  
ส่วนถนนก็กว้างเสียจริง  กว่าจะข้ามถนนได้เดินหลายสิบก้าว  
คงเป็นเพราะสมัยนั้นเราตัวเล็กกระมัง 
และที่ชอบในรูปนี้คือ  เด็กเล็กๆ ยังใส่ผ้าถุงอยู่ 
สมัยนั้นยังไม่มีกระโปรงสวยๆให้ใส่ 
ต่อมาเมื่อแม่เอื้อน เจ้าของร้านตัดเสื้อภัทราวดี  (แม่เอื้อน ยี่สาร
ตัดกระโปรงให้ลูกๆใส่ ลูกสาวก็กลายเป็นเด็กที่ทันสมัย 
เป็นไอดอล ของเด็กในอำเภอท่ายางไปเลย 

รูปนี้ถ่ายไปไม่ถึงโรงไม้โกพล ( นายพล ยี่สาร) 
ซึ่งอยู่ต่อจากร้านข้าวต้มต้นสน ที่ชื่อข้าวต้มต้นสน 
เพราะอยู่ติดกับโรงขายไม้โกพลฯ ที่ปลูกต้นสนไว้หน้าโรงไม้

รูปนี้ เจ๋งมาก
เป็นรูปที่ถ่ายเลยมาจากรูปที่ 1(แต่เป็นช่วงน้ำท่วม)
เป็นถนนใหญ่ ถ่ายจากด้านในเมืองออกไปสามแยกท่ายาง  
ที่เห็นต้นสนเรียงรายอยู่คือโรงไม้วัฒนะพล  
ของก๋งพล (นายพล ยี่สาร) 
จะเห็นว่าสองข้างทางไปสามแยก ยังเป็นป่ารกอยู่เลย 
(ที่จริงช่วง 15 ปีที่ผ่านมาตอนป้าการ มาทำงานแบ็งคฺ์ใหม่ๆ 
สองข้างทางไปสามแยกก็ยังไม่มีบ้านคน
เวลาขี่จักรยานไปสามแยกตอนมืดๆ น่ากลัวมาก) 
ในรูป  ข้างต้นสนจะเป็นร้านกาแฟโกเด๋า เจ้าต่า
ปัจจุบันย้ายไปปากซอยกำนันตุ๊
ต่อจากร้านกาแฟ จะเป็นร้านช่างไม้และทำไอติมของเจ๊กแท้ 
ฝั่งตรงข้ามยังเป็นบ้านมุงหลังคาจาก  บ้านที่เห็นสูงๆถัดไป 
เป็นบ้านนายพรม เจ้าของโรงสี เศรษฐีท่ายางคนหนึ่ง

เด็กๆยุคนี้ ไม่เคยรู้หรือได้ยินมาก่อนว่า ท่ายางเคยมีวงเวียนใหญ่ ที่มีต้นโพธิ์ อยู่กลางถนน  เกาะกลางถนนนี้เราเรียกกันว่า " ต้นโพธิ์ " ที่เกาะนี้หากจะไปกินขนม หรืออาหารที่ตั้งร้านขาย เราจะพูดว่า " ไปต้นโพธิ์ " ก็เป็นอันเข้าใจ 

ต้นโพธิ์ นี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนท่ายาง เพราะนอกจากจะมีศาลเจ้า 2 ศาลตั้งให้คนกราบไหว้แล้ว ยังมีร้านขายอาหารกินเล่น และกินจริงๆ เช่นก๋วยเตี๋ยวผัดไทย (น่าจะเป็นร้านป้าม่อม)  เต้าหู้ทอด  หวานเย็น และอีก 2-3 ร้าน  ( จำไม่ได้แล้ว เพราะเด็กมาก)  เวลาอยากจะพักผ่อนก็มาวิ่งเล่นกันที่นี่
ในรูปจะเห็นว่าบ้านเป็นบ้านไม้หลังคาสังกะสี ปัจจุบันบางบ้านก็ยังคงอยู่ เช่นบ้านน้าไล้   ร้านขายเสื้อผ้าสิทธิภัณฑ์  และ ขายเครื่องเหล็ก

จะเห็นปากซอยเข้าศาลเจ้าแม่ทับทิม ( ในซอยมีต้นมะขามใหญ่ 1 ต้น ปัจจุบันโค่นทิ้งไปแล้ว) ปากซอย 1 และ ซอย 2 



รูปนี้ถ่ายจากด้านปากซอย 1 ย้อนขึ้นมาทางสามแยกท่ายาง
จะเห็นแถวต้นสนหน้าโรงไม้วัฒนะพล(ของนายพล ยี่สาร) อยู่ซ้ายมือ
ด้านขวามือในรูป จะเห็นต้นโพธิ์ มีศาลเจ้า 2 ศาลตั้งอยู่ 
หลังจากยกเลิกเกาะกลางถนน ชาวบ้านได้อันเชิญเจ้าทั้ง 2ศาลนี้
ไปอยู่ในศาลเจ้าแม่ทับทิม 
ปัจจุบันก็ยังคงอยู่และพวกเราก็กราบไหว้ท่านมาตลอด 
เพียงแต่ไม่รู้กันเท่านั้นว่า เดิมท่านอยู่ที่ต้นโพธิ์

ห้องแถวไม้ซ้ายมือ นับเป็นศูนย์การค้าที่สำคัญของเมืองในสมัยนั้น 
ส่วนที่ลานต้นโพธิ์นี้ ในช่วงบ่าย 2 ถึง 3 โมง เด็กแทบทุกคนจะมารอกันที่นี่ เพื่อขึ้นรถเมล์ ( ตัวรถต่อด้วยไม้) ชื่อรถวงษ์นาวา ซึ่งเป็นรถเมล์คันเดียวที่เรามี  รถคันนี้จะมาส่งบรรดาแม่ค้าจะกลับจากขายของตามตลาดนัดทุกวัน หนึ่งในบรรดาแม่ค้าคือ 
ยายคำ ( อาทองคำ ยี่สาร แซ่บั่ง)
รถจะวิ่งรอบเมืองท่ายาง  ที่เด็กๆชอบก็เพราะ ในสมัยนั้นโอกาสที่จะได้นั่งรถยนต์ ไม่มีเลย การได้นั่งรถเมล์รอบท่ายางจึงเป็นโอกาสเดียวของพวกเรา แถมนั่งหลับอีกต่างหาก



ด้านขวามือ เป็นปากซอย 2 เป็นร้านกาแฟโกขุ่ย   
ตรงข้ามร้านโกขุ่ย  เป็นร้านโกเห่า
ฝั่งตรงข้ามปากซอย 2  เป็นร้านขายเครื่องเหล็กของเจ๊กห่ง 
ชื่อ อึ้งอยู่ล้ง ข้างร้านอึ้งอยู่ล้ง ซึ่งปัจจุบันเป็นธนาคารออมสิน
แต่ในรูปยังไม่มี  จะเป็นแถวเพิงหลังคาสังกะสี  เป็นที่ขายข้าวแกงโกร้อง  ข้างๆร้านโกร้อง เป็นร้านขายข้าวต้มกุ๊ย ปูผ้าแดง ( จำชื่อเจ้าของร้านไม่ได้  ไม่แน่ใจว่าของโกเห่า หรือไม่)  
และต่อด้วยก๋วยเตี๋ยวเนื้อ น่าจะเป็นของตาจื้อ

ตอน เด็กๆ เวลาจะซื้อแกง หรือข้าวต้ม  ต้องเอาชามไปจากบ้านแล้วให้คนขายตักแกงใส่ชามเดินถือกลับมา ร้อนก็ร้อน เวลาเดินต้องระวัง กลัวเดินล้มชามแกงคว่ำอดกิน แถมจะโดนตีอีกต่างหาก

ท้ายถนน จะเป็นห้องแถว บางบ้านยังมุงหลังคาจากอยู่  จะเห็นปากซอยโกอางค์  ที่หน้าปากซอย เป็นเพิงขายกาแฟ แม่ค้าสวยมาก ทำขนมกลวย ( คล้ายขนมถ้วยหน้ากะทิ แต่ใส่กลวยนึ่ง เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำแล้ว) 

สังเกตร้าน อึ้งอยู่ล้ง จะเห็นว่าบ้านยังใหม่มาก  น่าจะเพิ่งสร้าง แต่ปัจจุบัน (ปี 2555) บ้านหลังนี้รื้อไปแล้วเพื่อสร้างตึก วันหน้าหากอยากรู้ว่า ร้านอึ้งอยู่ล้ง เดิมหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ขอให้มาดูรูปนี้


รูปซอย 1 มองเข้าไปจะเห็นบ้านไม้สองชั้น โผล่ขึ้นมากลางซอย เป็น ร้านตัดผมของโกจีน เศรษฐีคนหนึ่งของท่ายาง เป็นบ้านแรกที่มีโทรทัศน์ดู  โกจีนจะวางโทรทัศน์ไว้บนเล่าเต้ง ( ชั้น2) ใกล้ระเบียง ให้ชาวบ้านดูด้วย  ตอนพวกเราเป็นเด็ก ทุกคนก็จะไปยืนแหงนคอดูโทรทัศน์ที่บ้านโกจีนทุกวัน 

เลยบ้านโกจีนจะเป็น ตลาดสดซอย 1( ตลาดกำนันรวม ทองเทศ)  เป็นที่ตั้งของบ้านก๋งส่วน ย่าตุ๋ย ( นายส่วน ยี่สาร) เป็นบ้านชั้นเดียวหลังคามุงจาก ที่กว้างขวางมาก  มีของขายเต็มบ้านไปหมด ตรงข้ามบ้านก๋งส่วน  เป็นบ้านอาคำ ( ทองคำ ยี่สาร แซ่บั่ง) ซึ่งเป็นร้านตัดผมของก๋งอู่ (นายอู่ แซ่บั่ง) นอกจากจะตัดผมแล้ว ยังรับตอนไก่อีกด้วย ก่อนที่จะเปลี่ยนมาขายหมูในตลาด พร้อมกับเลี้ยงปลากัด และตีไก่ เป็นงานอดิเรก

ที่หน้าปากซอยยังเป็นบ้านมุงหลังคาจาก เป็นบ้านของเจ้อู๊ด ขายขนมหวาน และบ้านน้าเผ่า พลอยพลาย พี่ชายน้าบุญยิ่ง พลอยพลาย

วันนี้ผ่านซอย 1 เห้นบ้านไม้2ชั้นหัวมุม ซ้ายมือยังอยู่ เพียงแต่โทรมไปตามเวลา

รูปนี้ถ่ายจากหน้าอำเภอ (เก่า) 
ด้านซ้ายมือ บ้านแรกเป็นบ้านลุงฟุ้ง ( พ่อครูประกอบ)  
บ้านต่อไปเป็นร้านตัดเสื้อ แม่ชุลี  
บ้านท้ายสุดของล๊อกแรก เป็นบ้านป้าหวิง กับ ปลัดดวง  
( ป้าสวิง พี่สาวของ ย่าเฉลา ยี่สาร)  
ต่อด้วยที่ว่างซึ่งต่อมากลายเป็นโรงไม้ครูจำรัสและโรงหนังเกษมสุข
(แต่ในรูปยังไม่มี)

ที่เห็นเป็นบ้านแรกล๊อคต่อไป เป็นบ้านของป้าม่อม 
ขายก๋วยเตี๋ยวผัดไทยในตลาดซอย 2
(อร่อยมาก ชอบซื้อมาคลุกข้าวกิน)
  ถัดไปยังร้านตัดเสื้อ โกจู๋ ป้าแสวง (พี่สาวย่าเฉลา ยี่สาร) 
ตรงข้ามเป็นผัดไทยโกต่ำ ( เตี่ยเจ้ตุ่ม  พี่ชาย ก๋งอู่ )
ตรงข้ามบ้านนายฟุ้ง เป็นบ้านครูสอิ้ง ต่อด้วยปลัด...( จำชื่อไม่ได้ ) จำได้ว่ามีลูกสาวสวยมาก

อาคารอำเภอท่ายาง ที่ทันสมัยมาก (สมัยนั้น)
เวลามีงานเลี้ยงแต่งงาน ตักบาตรปีใหม่ และทุกเทศกาล
จะจัดที่หน้าอำเภอนี้ พวกเด็กๆชอบไปยืนดูผู้ใหญ่แต่งตัวสวยๆ
ไปกินเลี้ยงที่นี่

รูปนี่จำไม่ได้ว่าเป็นส่วนไหน  น่าจะเป็นตรงข้ามที่ว่าการอำเภอท่ายาง



รูปต่อไป คิดว่าน่าจะเป็นสมัยที่เก่าน้อยกว่ารูปข้างบน 
เพราะสิ่งแวดล้อม และการแต่งกายของผู้คน ต่างกันมาก

เป็นรูปที่ถ่ายตลาดท่ายาง ในวันตลาดนัด 
ซึ่งย้ายสถานที่มาเป็นแถวหน้าตลาดสดปัจจุบัน 
ในรูปจะเป็นการถ่ายจากแถวหน้าบ้านโกร้อง ไปทางท่าคอย 
ตลาดนัดนี้เรียกว่า " นัดบน
(ตลาดซอย1 -2 เป็นตลาดกำนันรวม )
ในรูปเริ่มมีรถปิคอัพ มีรถยนต์สองแถวใช้กันแล้ว 
แต่ก็ยังมีการขนของจากในไร่มาขายด้วยรถรุนอยู่





รูปนี้ เป็นรูปที่ถ่ายย้อนจากทาง ท่าคอยกลับมาทางออมสิน
ด้านขวามือเป็นบ้านโกร้อง ซ้ายมือปากซอยเป็นบ้านโกส่วน,โบ๊ไห้


 ถ่ายเข้าไปในซอยบ้านโกส่วน ห้องแถวชุดนี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว 
เพราะไฟไหม้ กลายเป็นร้านค้าเล็กๆข้างตลาดสดเทศบาล
บ้านสุดท้ายหัวมุมล๊อคแรกเป็นร้านรับซื้อของป่าของเจ้ไน้

รูปต่อไป ถ่ายจากปากซอยเข้าไปมองเห็นโรงหนังเกษมสุข







รูปข้างล่างนี้ เป็นการถ่ายย้อนมาจากโรงหนังเกษมสูข 
กลับมาปากซอย จนเห็นบ้านโกร้อง







ในวัยเด็ก เราจะวิ่งเล่นในตลาด" นัดบน" 
อาศัยกองกล้วย กองฟักทอง กองฟัก แฟง  แตงโม ฯลฯ เป็นที่เล่น  
ภาพนี้เป็นภาพที่ชินตามากในสมัยนั้น


รูปนี้ถ่ายจากบนเล่าเต้ง ของบ้านใครสักคน 
หันหน้าไปทางโรงหนังเกษมสูข 
จากซอยอีกด้านหนึ่งของตลาดนัดบน
ถ่ายจากปากซอยกลาง ซึ่งเป็นซอยของโกอางค์  
ขวามือเห็นโรงหนังเกษมสุข

ร้านชำหน้าปากซอยกลาง ด้านนัดบน สมัยนั้นขายดีมาก 

ด้านล่างเป็นรูปตลาดนัด สภาพยังคงเหมือนปัจจุบัน




รูปนี้ถ่ายบริเวณท้ายซอย แถวหน้าบ้านป้าสวิง
ย้อนไปทางศาลเจ้าพ่อกวนอู

เพลงสาวท่ายาง



เพลงไม่ลืมท่ายาง



เนื้อเพลง

เพลง สาวท่ายาง
ขับร้องโดย ละอองดาว โสธรบุญ
คำร้อง พนมไพร ลูกเพชร

ป่านฉะนี้พี่คงจะลืมน้องนาง ลืมสาวท่ายาง
อำเภอหนึ่งเมืองเพชรบุรี ลืมสิ้นคำหวาน
ลืมน้ำตาลว่าหวานเหลือที่
เคยลงเรือพร่ำวจี ก่อนนี้ที่แก่งกระจาน
ป่านฉะนี้พี่คงจะลืมรักเรา ลืมแม้งานเขา
เดือนห้าเมื่อหน้าสงกรานต์
เคยเที่ยวเขาหลวง สองเราจุดธูปอธิษฐาน
ต่อหน้าองค์พระประธาน สุขสำราญอยู่เพียงสองคน
พี่เด็ดลั่นทมแซมเสียบผม น้องยังจำได้
น้องก็เอียงอาย แต่ใจน้องกลับสุขล้น
แต่มาบัดนี้ เหลือเพียงรอยร้าวกมล
ไม่เห็นร่างพี่มายล ถิ่นตำบลเมืองเพชรบุรี
ป่านนี้ฉะนี้พี่คงจะลืมความหลัง ลืมสาวท่ายาง
ใครคนหนึ่งปวดช้ำฤดี น้ำตาหลั่งไหล
ปวดหัวใจเพราะคิดถึงพี่
ถึงแม้นจะนานหลายปี จะรอพี่กลับมาท่ายาง


เพลง ไม่ลืมท่ายาง
ขับร้องโดย พนมไพร ลูกเพชร
คำร้อง พนมไพร ลูกเพชร

แว่วเสียงเพลง พี่คงจะลืมน้องนาง
ลืมสาวท่ายาง อำเภอหนึ่งเมืองเพชรบุรี
ต่อว่าต่อขาน ลืมน้ำตาลว่าหวานเหลือที่
กล่าวหาว่าลืมวจี ก่อนนี้ที่แก่งกระจาน
แว่วเสียงเพลง พี่คงจะลืมรักเรา
ลืมแม้งานเขา เดือนห้าเมื่อหน้าสงกรานต์
พี่ลืมไม่ไหว สองเราเคยร่วมสาบาน
อย่าร้องไห้เลยนงคราญ คำสาบานยังจำฝังใจ
พี่จากเจ้าไป ในหัวใจพี่ยังจำมั่น
พี่จากจอมขวัญ เพราะบ้านของพี่อยู่ไกล
อยู่คนละแดน ไกลแสนเจ้าอย่าหมองไหม้
เดือนห้าจะย้อนมาใหม่ จะกลับไปเมืองเพชรบุรี
แว่วเสียงเพลง พี่คงจะลืมความหลัง
ลืมสาวท่ายาง ใครคนหนึ่งปวดช้ำฤดี
รอพี่หน่อยน้อง แม่เนื้อทองคนเพชรบุรี
โปรดฟังนะจ๊ะคนดี บ้านตายพี่ก็คือท่ายาง